โรงพยาบาลราชพฤกษ์

โรงพยาบาลราชพฤกษ์หลังเก่า  เริ่มเปิดดำเนินงานเมื่อต้นปี 2537(1994) โดยมีจำนวนเตียงจดทะเบียนทั้งหมด 50 เตียง ด้วยการให้บริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน  ทำให้โรงพยาบาลได้รับความไว้วางใจ ความเชื่อมั่นและศรัทธาจากประชาชนในพื้นที่  เป็นผลให้โรงพยาบาลที่มีอยู่เดิมจึงเริ่มมีความแออัด  ดังนั้น ผู้บริหารจึงได้วางแผนทำการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลราชพฤกษ์แห่งใหม่ บนพื้นที่ขนาด 10 ไร่ที่ไกลออกไปจากที่เดิมราว 1 กิโลเมตร เพื่อขยายพื้นที่ในการให้บริการแก่ผู้ป่วยที่มีความต้องการบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้น โดยเป็นโรงพยาบาลขนาด 220 เตียง

ราวต้นปี 2555(2012) ถือเป็นการเริ่มต้นการออกแบบโครงการโรงพยาบาลราชพฤกษ์แห่งใหม่อย่างแท้จริง จากการระดมความคิด (brainstorm) จากกลุ่มคนหลายสาขาวิชาชีพต่อคำสำคัญว่า “โรงพยาบาลในฝันคืออะไร” คำตอบที่ได้มีความหลากหลายและสะท้อนถึงความต้องการทั้งในด้านกายภาพ และในด้านจิตวิทยาสภาพแวดล้อมที่บางประเด็นโรงพยาบาลที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ไม่เคยตอบสนองมาก่อน อาทิเช่น “อยากให้เหมือนอยู่บ้าน” , “ไม่วุ่นวาย ไม่แออัด” , “ไม่หลงทาง” , “เป็นโรงพยาบาลที่เข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่น” , “กลิ่นโรงพยาบาลที่ไม่ใช่กลิ่นยา” และ “โรงพยาบาลเหมือนบ้าน” เสียงสะท้อนที่กล่าวถึงโรงพยาบาลในฝันจึงมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางการออกแบบโรงพยาบาลราชพฤกษ์แห่งใหม่ที่ทีมออกแบบได้วางเป้าหมายในการออกแบบไว้เป็นสามส่วนหลัก ได้แก่ (1) เป็นโรงพยาบาลที่สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเยียวยาทางจิตใจ “แม้กายป่วย แต่ใจไม่ป่วย” (2) เป็นโรงพยาบาลที่มีประสิทธิภาพในการใช้งานและบริหารจัดการ (3) เป็นโรงพยาบาลที่สอดคล้องกับบริบทที่ตั้งโครงการ

 

แนวคิดทางสถาปัตยกรรม

การไปโรงพยาบาล มักเป็นของแสลงสำหรับทุกๆคน ลำพังแค่ความเจ็บไข้ได้ป่วยที่ประสบอยู่ก็หนักหนาพอตัวอยู่แล้ว ยังต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมในโรงพยาบาลที่ให้ความรู้สึกตึงเครียด ไม่เป็นมิตร ความมึนงงสงสัยจากเส้นทางสัญจรที่ซับซ้อน จับต้นชนปลายไม่ถูก บางพื้นที่มีภาพผู้ป่วยบนเตียงเข็นที่ไม่น่ามอง และอื่นๆอีกนานา ประการ

การออกแบบโรงพยาบาลราชพฤกษ์จึงมีความตั้งใจที่จะ “เปลี่ยนโรงพยาบาลที่น่ากลัวให้เป็นบ้านที่ผู้คนคุ้นเคย” (จากโรงพยาบาล สู่โรงพยาบ้าน (Hospital—>Homepital)) ผ่านเป้าหมายดังนี้

1. เป็นโรงพยาบาลที่สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเยียวยาทางจิตใจ “แม้กายป่วย แต่ใจไม่ป่วย” โดยใช้

1.1 ธรรมชาติบำบัด (พื้นที่สีเขียว น้ำ(บ่อน้ำล้น) ลม ธรรมชาติ) ได้แก่

  • สร้างพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่บริเวณที่เป็นหัวใจสำคัญของโครงการคือโซนผู้ป่วยนอกและโซนต้อนรับ(ชั้นสอง) ผ่านการสร้างคอร์ทขนาดใหญ่ที่เป็นพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ รวมถึงปลูกต้นไม้ตลอดทั่วทั้งลานจอดรถ
  • สร้างพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ที่ชั้นห้า บริเวณ ROOF GARDEN ที่จะเป็นพื้นที่สำหรับโซนผู้ป่วยในได้มองเห็นและลงมาใช้ประโยชน์ได้
  • จัดวางพื้นที่ในแต่ละชั้นให้มีช่องลมเข้าและออก เพื่อให้ทางเดิน ,คอร์ท ในแต่ละชั้น ได้สัมผัสลมเย็นตลอดเวลา
  • บ่อน้ำล้น และ พื้นทีสีเขียวกระจายไปตามชั้นต่างๆ (คอร์ทต้นไม้ของพนักงานที่ชั้นสี่ , สวนสุนทรียสนทนาบริเวณข้างสำนักงานที่ชั้นสิบสาม, ระเบียงและสวนที่ส่วนพักพนักงานที่ชั้นสอง)

1.2 มิตรภาพบำบัด – เตรียมพื้นที่รองรับสำหรับการปฏิสัมพันธ์  (Community space) ระหว่างกันกระจายทั่วอาคาร เพื่อบริการสำหรับคนทุกคน ทั้งบุคลากร เจ้าหน้าที่ของโครงการ รวมถึงผู้มาใช้บริการที่มักมีญาติพี่น้องมากันหลายคน

1.3 สถาปัตยกรรมบำบัด – ใช้ส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมมาเยียวยา ผ่าน การใช้สัดส่วนอาคารที่สัมพันธ์กับมนุษย์ (Human scale) ใช้วัสดุ(Material) รูปแบบ และสัดส่วนที่ชาวบ้านคุ้นเคย เพื่อให้เกิดความรู้สึกไม่แปลกแยก และให้เกิดความอบอุ่น เสมือนว่า อยู่ที่บ้าน feel at home” ได้แก่

  • พื้นที่คอร์ทต้อนรับที่ชั้นสอง (welcome court) ซึ่งเป็นหัวใจของโครงการสำหรับการต้อนรับผู้มาใช้บริการ มีลักษณะเป็นคอร์ทที่มีหลังคา เสาไม้ ชายคาลงมาใกล้ๆกับตัวคน และระเบียงไม้โดยรอบ มีสวนและต้นไม้อยู่ตรงกลาง อีกทั้งเมื่อเข้ามาบริเวณนี้จะรับรู้ว่าอาคารมีเพียงสองชั้นเหมือนอยู่บ้าน
  • ตัวอาคารแม้ว่าเป็นอาคารขนาดใหญ่และสูง 14 ชั้น แต่มีการทอนสัดส่วนด้วยการลดหลั่นแมสของอาคาร และลดหลั่นหลังคามาสู่ระดับพื้นดิน พร้อมกับแทรกพื้นที่สีเขียวบนตัวอาคาร เช่น ผนังไม้เลื้อย/ต้นไม้เข้าไปเพื่อช่วยลดความแข็งของอาคาร
  • ใช้วัสดุไม้ และ ผนังลายเฉลวกับตัวอาคาร เพื่อให้อารมณ์ความอบอุ่น เป็นวัสดุที่ชาวบ้านคุ้นเคย และลายเฉลว(ลายจากภูมิปัญญาความเชื่อโบราณ) ยังสื่อความหมายในด้านมงคลกับตัวอาคารอีกด้วย1.4 จิตตปัญญาบำบัด – ใช้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อ มาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ผ่านการกำหนดพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในจุดต่างๆของโรงพยาบาล เพื่อให้จิตใจของผู้ป่วยระลึกถึงสิ่งดีงาม นำไปสู่จิตอันกุศล จิตที่ผ่อนคลายไม่เครียด โดย จัดให้มีพื้นที่ศาลพระพรหมและลานขนาดใหญ่ที่ชั้นหนึ่ง จัดให้มีห้องศาสนาสำหรับทุกศาสนา(พุทธ คริสต์ อิสลาม) ที่ชั้นห้า

 

2. เป็นโรงพยาบาลที่มีประสิทธิภาพในการใช้งานและบริหารจัดการ

2.1 จัดวางโซนนิ่งที่ชัดเจน มีความสัมพันธ์กัน และได้ตามมาตรฐานของพื้นที่ใช้สอยในโรงพยาบาล เช่น แผนกฉุกเฉิน ต้องอยู่ใกล้กับแผนกรังสีวิทยา เป็นต้น

2.2 แบ่งเส้นทางสัญจรที่ชัดเจน เพื่อจะแบ่งแยกผู้ป่วยหนัก(ซึ่งเป็นภาพที่ไม่น่าดู) ออกจากผู้ป่วยทั่วไป รวมถึงแยกเส้นทางสัญจรอื่นๆไม่ให้ปะปนกับเส้นทางสัญจรที่ผู้มาใช้บริการใช้เป็นเส้นทางหลัก

2.3 จัดเส้นทางสัญจรที่ไม่ซับซ้อน ง่ายต่อการจำได้หมายรู้ เพื่อให้ผู้มาใช้บริการไม่หลงทาง ผ่านการใช้คอร์ทมาเป็นตัวกำหนดเส้นทางสัญจรหลักสำหรับผู้มาใช้บริการทั่วไป

 

3. เป็นโรงพยาบาลที่สอดคล้องกับบริบทที่ตั้งโครงการ

3.1 การเตรียมพื้นที่รองรับญาติพี่น้องมิตรสหายของผู้มาใช้บริการ เนื่องจากวัฒนธรรมอีสาน ชาวบ้านยังเป็นครอบครัวใหญ่

3.2 นำภูมิปัญญาพื้นถิ่นมาประยุกต์ใช้กับอาคารขนาดใหญ่ให้เป็นอาคารร่วมสมัย  ได้แก่ การใช้ลักษณะหลังคา การใช้หน้าจั่วพระอาทิตย์ การใช้วัสดุไม้

3.3 การนำลายที่มีความสัมพันธ์กับความเชื่อโบราณมาใช้ ได้แก่ ลายเฉลวซึ่งถือเป็นลายที่เป็นมงคล ขจัดปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป โดยนำมาใช้เป็นผิวอาคารที่ชั้นสามและชั้นสิบสอง

 

รับชมวิดีโอเพิ่มเติม โรงพยาบาลราชพฤกษ์ Ratchaphruek Hospital

Location: 456 หมู่ 14 ถนนมิตรภาพ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
Year
Client/Owner: โรงพยาบาลราชพฤกษ์
Status:
Building Area: 23,000 ตร.ม.
Project Value: 800,000,000 บาท
Collaborators: งานสถาปัตยกรรม : Arsomsilp Community and Environmental Architect and Spacetime Architect, งานสถาปัตยกรรมภายใน : Spacetime Architect, artwork design and selector : Piangor Pattayakorn, Pongsapat Arnamnart, งานภูมิสถาปัตยกรรม : PLandscape, งานออกแบบแสงสว่าง : LD49, งานวิศวกรรมโครงสร้าง : Anek Siripanichkorn, งานวิศวกรรมระบบ : PASS ENGINEERING CONSULTANT, สถาปนิกที่ปรึกษาด้านการออกแบบโรงพยาบาล : Veerasak Thongpaiboon, Contractor : Christiani & Nielsen (Thai) Public Company Limited