บ้านบุณยัษฐิติ
ชุมชนริมน้ำจันทบูร มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รอดพ้นจากการเสียดินแดนในยุคอาณานิคมฝรั่งเศสสมัย ร.ศ. 112 เป็นชุมชนเก่าแก่ริมฝั่งแม่น้ำจันทบุรี ด้วยทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมจึงเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการค้าและคมนาคม ทำให้เกิดการผสมผสานของวัฒนธรรมทั้งคนไทย คนจีน และ คนญวน ซึ่งมีทั้งข้าราชการและพ่อค้าคหบดี ส่งผลให้ชุมชนมีความเจริญรุ่งเรืองมากในอดีต เช่นเดียวกับย่านเยาวราชในกรุงเทพมหานคร และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสหลายครั้ง ชุมชนริมน้ำได้รับผลกระทบจากอัคคีภัยครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2533 ที่ทำให้บ้านเรือนและสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าเสียหายไปจำนวนมาก แต่ชาวชุมชนก็ยังคงรักษาวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี และอาคารบ้านเรือนให้คงคุณค่า เอกลักษณ์และเป็นเสน่ห์ของชุมชนมาจวบจนปัจจุบัน
บ้าน ‘บุณยัษฐิติ’ คือ อาคารประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่ามีอายุกว่า 150 ปี ตั้งอยู่ ย่านตลาดล่าง ชุมชนริมน้ำจันทบูร ลักษณะโครงสร้างหลักเป็นกำแพงอิฐรับน้ำหนักและโครงหลังคาไม้แบบจีนโบราณ ผสานกลิ่นอายของวัฒนธรรมไทย จีน และตะวันตก เมื่อแรกสร้างบ้านบุณยัษฐิติถือเป็นหมุดหมายสำคัญของจันทบุรี ด้วยความสง่างามของบ้านทำให้มักถูกใช้เป็นที่พำนักค้างแรมระหว่างเดินทางของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หรือแขกบ้านแขกเมือง เมื่อจังหวัดจันทบุรียังไม่มีโรงแรมหรือสถานพักแรมอันเหมาะสม
สันนิษฐานว่าบ้านบุณยัษฐิติสร้างโดยหลวงอนุรักษ์พานิช (กั๊ก หรือ บุญมาก บุณยัษฐิติ) บุตรนายบุญคงและนางอยู่ (สกุลเดิม “สินธุนาวา”) โดยอ้างอิงจากพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี 2419 ที่กล่าวถึงครอบครัวของหลวงอนุรักษ์พานิช และบ้านหลังนี้ไว้ ดังนี้
“เราออกจากที่นั่นมาถึงพลับพลาบางกะจะ 3 โมงครึ่ง…อนึ่งจีนกั๊ก1 เอาพลอยมาให้ เราให้เงิน 3 ตำลึง แล้วลงเรือกลับตีกรรเชียงมาเวลา 5 โมง”
“พระไพพายายหงวน2แม่จีนกี๋3 จีนกิด4 จีนเกีย5 มาหาเรา เอาผ้าพื้นกับพลอยต่าง ๆ มาให้ แต่ที่เป็นสำคัญนั้นบุศย์น้ำทองยอดหนึ่งของจีนกี๋3ให้ เกือบเท่ากับพลอยในตรานพรัตน์ น้ำก็งามดีเราเห็นว่าพลอยจันทบุรีจะเป็นอย่างดีอยู่เพียงนี้ ได้ให้เงินเขาชั่ง 1 เป็นรางวัล กับให้ยายหงวน2อีก 5 ตำลึง แต่ลูกอีกสองคนนั้นเราจะให้เสื้อ ต่อเมื่อไปเมืองพรุ่งนี้”
“เมื่อมาเกือบจะถึงปลายถนน เราจึงพบตึกยายหงวน2 ตึกของแกหมดจดดี มีของขายก็มาก เราไปต่ออีกจนที่สุดถนนที่มีโรงค้าขายสองข้างทางประมาณ 12 เส้น แล้วกลับมาพบพระยาจันทบุรีตามเราไป แต่เมื่อเราไปถึงหน้าท่าพระพิพิธเป็นผู้รับรอง ด้วยบ้านเขาอยู่ที่นั่น เมื่อเราไปนั้นตามตึกโรง ๒ ข้างทาง เขาตั้งโต๊ะบูชาหลายสิบโต๊ะ บางแห่งก็มีน้ำร้อนน้ำเย็นหมากพลูเลี้ยงคนที่ตามเราไปด้วย แล้วเราก็มานั่งอยู่ที่ตพานน้ำ ได้ให้เงินแก่แสงมารดาภรรยาพระพิพิธ ๒ ตำลึง กับให้เสื้อจีนกี้3 จีนกิด4 จีนเกีย5 คนละตัว”
ประกอบกับในปี 2419 ที่รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสจันทบุรี หลวงเสนาราชภักดีศรีสงคราม (เกี้ย) บุตรชายคนที่ 3 ของหลวงอนุรักษ์พานิช ซึ่งเป็นผู้ครอบครองบ้านหลังนี้ต่อจากบิดา มีอายุ 26 ปี จึงทำให้เชื่อได้ว่าบ้านบุณยัษฐิติแห่งนี้สร้างโดยหลวงอนุรักษ์พานิชผู้เป็นบิดา
ข้อสันนิษฐาน
1 จีนกั๊ก หมายถึง หลวงอนุรักษ์พานิช (กั๊ก หรือ บุญมาก บุณยัษฐิติ)
2 หงวน หมายถึง หลวน (สกุลเดิม “สุนทรเวช”) ภริยาหลวงอนุรักษ์พานิช
3 จีนกี๋หรือจีนกี้ หมายถึง หลวงบุรุษประชาภิรมย์ (กี้ บุณยัษฐิติ) บุตรคนที่ 2 ของหลวงอนุรักษ์พานิช
4 จีนกิด หมายถึง ขุนสุคนธนอารมย์ (กิจ บุณยัษฐิติ) บุตรคนที่ 4 ของหลวงอนุรักษ์พานิช
5 จีนเกีย หมายถึง หลวงเสนาราชภักดีศรีสงคราม (เกี้ย บุณยัษฐิติ) บุตรคนที่ 3 ของหลวงอนุรักษ์พานิช
ด้วยอายุอาคารที่ยาวนานโครงสร้างอาคารและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมจึงมีสภาพทรุดโทรมตามกาลเวลา การสำรวจและวิเคราะห์ทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมแล้ว พบว่า
(1) องค์ประกอบหลักของอาคารในส่วนของผนังอิฐรับน้ำหนักและโครงหลังคายังคงอยู่ในสภาพดีและอยู่ในสภาพดั้งเดิม มีความทรุดเอียงของอาคารส่วนที่ติดริมน้ำ
(2) วัสดุขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมมีการเสื่อมสภาพตามกาลเวลา เช่น บานประตูไม้ ฝาไม้ ลายฉลุไม้ โครงสร้างรับพื้นไม้ เป็นต้น
(3) องค์ประกอบอาคารบางส่วนสูญหายและถูกปรับเปลี่ยนไปจากวัสดุดั้งเดิม เช่น วัสดุมุงหลังคา วัสดุปูพื้นชั้นหนึ่ง แผงไม้แกะสลัก เป็นต้น
โดยในการการบูรณะบ้านบุณยัษฐิติ มีหลักการสำคัญ คือ
(1) ปรับเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอย (Adaptive Re-use) ของสถาปัตยกรรมเดิมอย่างสมสมัย ช่วยส่งเสริมคุณค่าทางประวัติศาสตร์และไม่ทำลายคุณค่าของรูปแบบสถาปัตยกรรมเดิม ทำหน้าที่เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตส่งต่อคุณค่าทางประวัตศาสตร์ไปยังชาวชุมชนและคนรุ่นหลังอย่างยั่งยืน
(2) ใช้กระบวนการทำงานทางสถาปัตยกรรมเป็นฐานของการสร้างกระบวนการเรียนรู้ระหว่าง เจ้าของบ้าน สถาปนิก ช่างฝีมือ และชาวชุมชน
(3) ฟื้นภูมิปัญญาเชิงช่างโบราณ โดยในขั้นตอนการก่อสร้างทำการศึกษาร่วมกับช่างฝีมือในด้านต่าง ๆ เช่น งานหลังคา งานปูนปั้น งานไม้ เป็นต้น เพื่อให้เกิดการสืบสานและต่อยอดงานช่างโบราณ หวังให้เกิดความยั่งยืนในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไปสู่ชนรุ่นหลังต่อไป
(4) องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่เสื่อมสภาพตามกาลเวลา หรือสูญหาย ใช้การเก็บรวบรวมหลักฐานที่ปรากฏอยู่และค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม บูรณะให้กลับคืนสู่สภาพทางสถาปัตยกรรมทีเคยเป็นมาในอดีต เช่น บานประตูไม้ ฝาไม้ ลายฉลุไม้ โครงสร้างรับพื้นไม้ เป็นต้น
(5) ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยการใช้วัสดุคุณภาพดีที่หาได้ในท้องถิ่นมาเป็นองค์ประกอบในการบูรณะครั้งนี้ เช่น กระเบื้องหลังคา เป็นต้น
(6) ผสานเทคนิคทางวิศวกรรมสมัยใหม่มาใช้ในการเสริมโครงสร้างหลักของอาคาร โดยเคารพของเก่า เพื่อให้อาคารมีความมั่นคงแข็งแรงในระยะยาว
Location: | บ้านเลขที่ 148 ถนนสุขาภิบาล อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี |
Year | 2563 |
Client/Owner: | ผศ.กนิช บุณยัษฐิติ |
Status: | COMPLETED |
Building Area: | ประมาณ 600 ตร.ม. |
Project Value: | 25,000,000 บาท |
Collaborators: | สถาปนิก : บริษัท สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด, ที่ปรึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ และการออกแบบนิทรรศการ : อ.เผ่าทอง ทองเจือ, มัณฑนากร : คุณอิทธิพร วงศ์มณีโรจน์ และ คุณพาหกิตติ์ ตรีมาศ, ภูมิสถาปนิก : บริษัท สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อมอาศรมศิลป์ จำกัด, วิศวกรโครงสร้าง/ผู้ควบคุมงาน : คุณชาตรี งามเสงี่ยม, ผู้รับเหมา : บริษัท วานิชโยธา 2009 จำกัด, ช่างภาพ : คุณพรรษ ภูชำนิ |