Medita & Workation Home
สถาปัตยกรรมเพื่อการอยู่และจากไปอย่างสงบ
ทางเลือกหนึ่งในสถานการณ์โควิด-19 New Normal
ปัจฉิมวัย เรา…สถาปนิกวัยย่างเข้า 71 ปี ยังคงมีฉันทะที่จำทำงานทางโลก เพื่อประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน ที่ต้องเผชิญกับโลกธรรม ๘ แต่ในขณะเดียวก็เห็นความจำเป็นในการฝึกตนในการเจริญสติปัฏฐานเพื่อช่วยให้ชีวิตและการทำงานเป็นไปอย่างเบิกบาน และพร้อมจะจากโลกไปอย่างสงบในตอนท้ายที่สุดของชีวิต วิบากกรรมบนเส้นทางภาวนา เรามีโอกาสได้เข้าใกล้ธรรม และเริ่มฝึกภาวนาเมื่อเข้าวัยปลายสี่สิบ แต่ความสำเร็จในทางโลกอย่างรวดเร็ว กลับเป็นวิบากในเส้นทางภาวนาของเราด้วยอุปสรรค (สังโยชน์) นานาประการ การภาวนาจึงเต็มไปด้วยความโลภ โกรธ หลง อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว ตามความเคยชินด้วยทักษะทางโลก ที่มีแรงจูงใจจาก ‘กิเลส’ ด้วยความ “อยากได้” เป็นแรงขับกระตุ้น เมื่อไม่เกิดผลก็ “ยิ่งอยากได้” เมื่อไม่ได้ก็ลงโทษตนเองด้วยการ “หักดิบ” หักโหมเบียดเบียนตน การภาวนาจึงเป็น ‘ยาขม’ สำหรับเรามาโดยตลอด ด้วยความท้อแท้สิ้นหวัง จึงปล่อยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปตามยถากรรม ตกร่องแห่งความเคยชิน ด้วยความประมาทต่อไป พานพบครูบาอาจารย์ ด้วยอานิสงส์ของคู่ชีวิต ที่มีบุญกุศลได้ปฏิบัติภาวนาอย่างสม่ำเสมอยาวนาน กับคุณป้าพิกุล มโนเจริญ เจ้าสำนักสถานปฏิบัติธรรม “สวนแสงเทียนสมบูรณ์” ผู้นำทางจิตวิญญาณที่กอปรไปด้วยความเมตตา ให้ความเป็นกัลยาณมิตรทางธรรม จึงเป็นโอกาสให้เราได้กลับมาภาวนาครั้งใหม่ในบั้นปลายของชีวิตในช่วง ๔ – ๕ ปีที่ผ่านมา ที่พอจะตั้งหลักภาวนาวางจิตวางใจอยู่กับปัจจุบันขณะได้ ด้วยเมตตาบารมีของท่าน ครูผู้มอบธรรมะและสถานที่ เมื่อต้นปี 2563 คุณป้าพิกุลมีเมตตาเร้ากุศลเราด้วยกุศโลบายให้มาสร้างกุฏิ เพื่อเป็นพื้นที่สัปปายะในการปฏิบัติให้ถูกจริตเฉพาะตน บริเวณสวนมะม่วงที่คุณป้าขยายพื้นที่ของสำนักมาเป็นพื้นที่ภาวนาของภิกษุสามเณร และฆราวาสชาย คุณป้ามอบแรงใจให้เราเกิดฉันทะในการภาวนาในช่วงปีใหม่ ในอ้อมกอดของขุนเขา ผืนฟ้า ม่านหมอก สายลมและไออุ่นจากแสงแดด ท่ามกลางอากาศหนาวที่เย็นสบาย ต้องกับจริตเรา การทดลองภาวนาในพื้นที่เพื่อการตัดสินใจ ด้วยพลังเมตตาของคุณป้า เป็นกำลังใจให้เราน้อมใจลงมือทดลองปฏิบัติภาวนา เพื่อสัมผัสบริบทของพื้นที่ฆราวาสชายในมิติต่าง ๆ จากประสบการณ์ตรงด้วย อายตนะทั้ง ๖ ในกุฏิที่คุณป้าออกแบบ พร้อมกับสัปปายะ 7 (อาวาส อาหาร บุคคล การสนทนา โคจร อากาศ อิริยาบถ) ที่เป็นไปโดยสะดวก เป็นเหตุให้เราตัดสินใจสร้างกุฏิถวายสำนัก เพื่อการฝึกของตนเองและกัลยาณธรรม โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคนเมืองที่มีฉันทะในวิถีธรรม แปลงวิกฤติโควิด-19 เป็นโอกาสจากการ Work (and Meditation from home) วิถีโลก vs วิถีธรรม จากกุฏิสู่ Medita & Workation Home วิถีธรรม : วัตรปฏิบัติ การปลีกวิเวกเพื่อวิธีการภาวนาที่สวนแสงเทียนศิริบูรณ์ จะพยายามให้ผู้ภาวนาสันโดษ จากการสื่อสารที่วุ่นวาย ของโลกภายนอกด้วยเครื่องมือสื่อสาร และกุฏิที่ค่อนข้างปิดเพื่อไม่ให้จิต ส่งออกนอก ขาดความตั้งมั่น ในการภาวนารวมถึงการให้กายได้สัมผัสกับความร้อน ชื้น หนาวเย็น ตามสภาวะของธรรมชาติ วิถีโลก : เรายังต้องใช้เวลาในการทำงานทางโลกและสื่อสาร แบบออฟ-ออนไลน์อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ใช้ชีวิตอยู่ในห้องปรับอากาศเกือบตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจาก อาการภูมิแพ้ที่หนักข้อขึ้นตามวัย และยังต้องพึ่งพลังธรรมชาติ แห่งขุนเขา ผืนดิน แผ่นฟ้า ดาวเดือน สายลม ฝนแสงแดด ดอกไม้ใบหญ้า มาปลุกเร้ากำลังใจและเปลี่ยนอารมณ์เมื่อจิตจมในการภาวนา
คุณป้าพิกุลได้เมตตาคลี่คลายสร้างดุลยภาพแห่งวิถีโลก และวิถีธรรมมาเป็นวัตรปฏิบัติ ดังนี้ 4.30 – 6.00 ตื่นนอนทำวัตร ภาวนาในรูปแบบ(ยืดหยุ่นตามสภาพร่างกาย) 6.00 – 7.00 กิจธุระส่วนตัว 7.00 – 8.00 อาหารเช้า 8.00 – 11.00 ภาวนาในรูปแบบ (ยืดหยุ่นสลับกับการทำงาน ) 11.00 – 12.00 อาหารเพล 12.00 – 13.00 กิจธุระส่วนตัว 13.00 – 17.00 ภาวนาในรูปแบบ (ยืดหยุ่นสลับกับการทำงาน) 17.00 – 18.00 กิจธุระส่วนตัว 18.00 – 21.00 ทำวัตรเย็นภาวนาในรูปแบบ 21.00 – 03.00 นอนพักผ่อน
ส่วนในทางกายภาพคุณป้าให้เปิดมุมรับพลังจากธรรมชาติได้เต็มที่ ให้เป็นปัจจัยในการเปลี่ยนอารมณ์ ในการภาวนาโดยเลี่ยงการเสพที่เปฝ้นเหตุปัจจัยส่งจิตออกนอก และการติดเครื่องปรับอากาศก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของกาย เพื่อการแก้ทุกข์ทางกายในยามจำเป็น ทำเลที่ตั้ง : การเผชิญหน้ากับการขวางตะวัน เมื่อเราเชื่อและเลือกทำเล ณ จุดสูงสุดของพื้นที่เพื่อการรับพลังธรรมชาติภายใต้อ้อมกอดของขุนเขา จึงเป็นหนทางเดินที่ต้องเผชิญหน้าท้าทายกับภาวะความไม่สบาย จากผลกระทบของแสงตะวันที่ต้องอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นในการระบายอากาศ วัสดุหลังคาป้องกันความร้อนทางธรรมชาติ วัสดุฉนวนกันความร้อน และฟิล์มสะท้อนแสงจากภูมิปัญญาสมัยใหม่ แปรวิกฤตเป็นโอกาสในการใช้พลังแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้าที่เพียงพอสำหรับเรา แล้วยังเผื่อไฟไปยังอาคารทุกหลังในพื้นที่ภาวนาส่วนภิกษุ สามเณรและฆราวาสชาย โดยแผงโซล่าเซลล์นี้ยังทำหน้าที่เป็น Double Roof ช่วยป้องกันความร้อนเข้าสู่อาคารอีกด้วย รวมถึงการปลูกต้นไม้เพื่อร่มเงาและความสดชื่น การฝึกการภาวนาของเรา ๓ สัปดาห์ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาผ่านไปด้วยความสะดวกจากภาวะน่าสบาย โดยไม่ต้องพึ่งพาม่านทึบแสงป้องกันแสงอาทิตย์ที่เตรียมไว้ ในยามที่อุณหภูมิสูงในขั้นวิกฤต งานร่วมสมัยกับสล่าพื้นบ้าน : มิตรภาพจากการเรียนรู้บนพลังบุญ เมื่อตัดสินใจทำโครงการราวเดือนกันยายน เหลือเวลาอีก ๓ เดือนก็จะถึงปีใหม่ตามที่คุณป้าชักชวนให้มาภาวนาร่วมกัน เราจึงเลือกใช้เหล็กเป็นโครงสร้างด้วยหวังว่าจะเสร็จตามเป้าหมาย เราเร่งออกแบบตามโปรแกรมที่สอดคล้องกับวิถีที่หารือกับคุณป้าจนเสร็จภายใน ๑ เดือน จากความช่วยเหลือของเต้อ สถาปนิกอาวุโส ช่วยพัฒนาแบบตามแนวคิดของเรา แต่ไม่สามารถหาผู้รับเหมาโครงสร้างเหล็กที่มีประสบการณ์มาทำงานได้ จึงเป็นเหตุให้ต้องใช้สล่าพื้นถิ่นผู้เป็นหุ้นส่วนต่างวัย ที่ไม่เคยทำงานเหล็ก Wide Flange มาก่อน คือสล่าวิ่ง ผู้อาวุโสวัย ๖๐ และสล่าชัยหนุ่มวัยฉกรรจ์ โดยมีบุ๋ย สถาปนิกหนุ่ม ลูกศิษย์ปริญญาโทรุ่นแรกของอาศรมศิลป์ ที่ปัจจุบันประกอบวิชาชีพอยู่เมืองเชียงราย มีน้ำใจมาช่วยดูแลแนะนำการก่อสร้างได้สัปดาห์ละครั้ง เรา Kick off meeting ครั้งแรกด้วยโมเดลโครงสร้างไม้บาซ่าที่ทำอย่างละเอียดและประณีต เพื่อช่วยให้สล่าเข้าใจแบบได้ง่ายและชัดเจน แต่กลับทำให้สองสล่าเกิดอาการถอดใจ เพราะเกรงว่าไม่สามารถทำงานให้บรรลุตามความคาดหวัง ที่เขาคิดว่าต้องประณีตและทันเวลาได้ ต้องเกลี้ยกล่อมกันอยู่นานจนได้ข้อยุติและเดินหน้าต่อ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีสถาปนิกประจำอยู่หน้างาน ซึ่งเปาลูกศิษย์บัณฑิตปริญญาตรีมาหมาด ๆ จากอาศรมศิลป์รับอาสามาช่วยด้วยความยินดี และตั้งเป้าหมายร่วมกันกับเราว่า จะเรียนรู้ทั้งเรื่องงานและเรื่องคน โดยใช้ความอ่อนน้อมถ่อมตน ตั้งใจขยันอดทนเป็นอาวุธ และต้องวางใจว่าสล่าและผู้เกี่ยวข้องทุกคนเป็นครูของเรา เปา บุ๋ย สล่ามิ่ง และสล่าชัย และสล่าอื่น ๆ จากต่างถิ่นที่อยู่ ร่วมทางชีวิต ร่วมหัวจมท้าย เริ่มนับหนึ่งที่ต่างคนต่างด้อยประสบการณ์ ลองผิดลองถูกกันด้วยความไว้วางใจและสำนึกในงานบุญร่วมกัน โดยมีคุณป้า แม่ชี และธรรมบริกรชาวสวนแสงเทียนเร้ากุศลด้วยธรรมโอสถ และอาหารการกินอย่างอิ่มหมีพีมันทุกมื้อ ยกเว้นบางมื้อเย็นที่เปาไปฝากท้องที่บ้านสล่ามิ่งและสล่าชัย ที่เราไปลิ้มรสมือบุพการีของเขาด้วย นอกเหนือจากงานโครงสร้างเหล็กที่นำร่องเป็นทัพหน้าแล้ว งานไม้สักที่คุณป้าพิกุลได้ไม้มาจากญาติมิตรชาวแพร่โดยขายให้ในราคาทำบุญ และนำมาใช้ในงานนี้เพื่อสืบสานรักษาความเป็นเฮือนเหนือตามที่คุณป้าคุ้นชินมาแต่เยาว์วัย โดยมีสล่าไม้ ๕ คนนำโดยสล่าธรมาตั้งแคมป์ เริ่มงานตั้งแต่ผ่าซุงจนถึงงานดีเทลที่ประณีตในขั้นสุดท้าย ตลอดระยะเวลา ๒ เดือนที่ผ่านการกินอยู่หลับนอนและทำงานที่เหนื่อยกายกลางแดดที่ร้อนระอุ สลับกับลมฝนจนบางคนก็ป่วยกาย แต่ยังคงเดินหน้าต่อไปจนสำเร็จลุล่วงไปด้วยใจที่เบิกบาน อิ่มเอม และภาคภูมิ
ดั่งคำครูบาอาจารย์ “การงานก็เป็นผล ผู้คนก็เป็นสุข”
|
Location: | สวนแสงเทียนศิริบูรณ์ อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา |
Year | 2564 |
Client/Owner: | มูลนิธิสวนแสงเทียนศิริบูรณ์ |
Status: | ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ |
Building Area: | 68 ตร.ม. |
Project Value: | เป็นการทำงานผ่านการทำบุญ ถ้าประมูลตามปกติค่าก่อสร้างควรเป็นไปตามมาตรฐาน |
Collaborators: | บริษัท สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด / คุณสุรพงษ์ สิริวิชยกุล / คุณเพชร ปัญญางาม / คุณสุชน ทรัพย์สิงห์ / คุณศรีรัฏฐ์ สมศวัสดิ |