โครงการบ้านมั่นคง ชุมชนลูกหลานเจ้าคำผง
ชุมชนเก่าแก่ริมแม่นํ้ามูล
กว่า ๒๐๐ ปีที่แล้ว พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ได้อพยพผู้คนจากเมืองลาวมาตั้งถิ่นฐานสร้างบ้านแปงเมือง ณ ที่ริมฝั่งแม่นํ้ามูล จนกระทั่งกลายเป็นจังหวัดอุบลราชธานี เจ้าคำผงเป็นเจ้าเมืองคนแรก และสร้างวัดหลวงเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาเป็นวัดสำคัญแห่งแรกคู่บ้านคู่เมืองอุบลฯ
ไพร่พลลูกหลานที่ติดตามกันมากับท่านก็ได้ตั้งชุมชนบริเวณนั้นใช้ชีวิตผูกพันกับแม่นํ้ามูลมาเป็นเวลาช้านาน ทำประมงชายฝั่งหาอยู่หากินตามธรรมชาติ และมีอาชีพที่เคยรุ่งเรืองมากคือการเพาะถั่วงอก เพราะที่ริมฝั่งมีตานํ้าบริสุทธิ์ผุดขึ้นมาเหมาะสมสำหรับใช้ในการเพาะถั่วงอก เดิมเคยมีท่าถั่วงอก เป็นท่าเรือค้าขายถั่วงอกซึ่งถูกส่งไปจำหน่ายทั่วจังหวัด แต่ปัจจุบันนี้อาชีพเพาะถั่วงอกขายค่อย ๆ หายไปจากชุมชนเพราะการเข้ามาแทนที่ของถั่วงอกแบบอุตสาหกรรม และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปของวิถีชุมชนริมนํ้า ชุมชนลูกหลานเจ้าคำผงแบ่งออกเป็น ๕ คุ้ม คือคุ้มวัดหลวง ๑ คุ้มวัดหลวง๒ คุ้มวัดกลาง คุ้มหลังศาลเจ้า และคุ้มวัดใต้ รวมพื้นที่ ๑๑ ไร่ ขนานไปตามความยาวของแม่นํ้ามูล โดยตำแหน่งที่ตั้งถือว่าเป็นหน้าด่านของตัวเมืองอุบลราชธานี อย่างไรก็ตาม แม้ชุมชนจะตั้งรกรากตรงนี้มานานก่อนมีกฎหมายการถือครองที่ดิน แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์เพราะไม่ได้ขึ้นทะเบียน พื้นที่เกือบทั้งชุมชนจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของสาธารณะ ชุมชนมีสถานะเป็นชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่บุกรุกที่ดินสาธารณะ
ถอดรหัสสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น
สถาปนิกชุมชนจากสถาบันอาศรมศิลป์ได้ลงพื้นสำรวจเก็บข้อมูลทั้ง ๖๔ หลังคาเรือนที่เข้าร่วมโครงการ ถอดแบบพฤติกรรมการใช้พื้นที่ รูปแบบและองค์ประกอบของบ้านเก่า มาประยุกต์ดัดแปลงเป็นแบบบ้านหลังใหม่ที่แม้จะมีขนาดพื้นที่เล็กลงแต่พยายามคงลักษณะใกล้เคียงของเก่าให้มากที่สุด ทั้งรูปทรงอาคารแบบพื้นถิ่นอีสานที่ชาวบ้านคุ้นเคยและตอบรับกับวิถีชีวิตประจำวัน เช่น มีพื้นที่ใต้ถุน บันได นอกชานบ้าน ฝาไหล และช่องลมระแนงไม้ เพียงแต่ปรับเปลี่ยนวัสดุที่ใช้จากไม้จริงเป็นวัสดุเทียมไม้ และเหล็ก เพื่อความประหยัดและอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น นอกจากนี้ ยังระดมความคิดเห็นจากชาวบ้านในการปรับผังชุมชน วางตำแหน่งของกลุ่มบ้าน การคงพื้นที่ส่วนกลางชุมชนเหมือนในอดีตเพื่อรักษาความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกันของคนในชุมชน ไม่ให้ห่างเหินต่างคนต่างอยู่เหมือนรูปแบบหมู่บ้านจัดสรรการเพิ่มพื้นที่ซอกซอยในชุมชนให้กว้างกว่าเดิมเพื่อประสิทธิภาพในการสัญจร เช่นว่าหากเกิดเพลิงไหม้รถดับเพลิงสามารถเข้าถึงได้ หรือรถพยาบาลวิ่งเข้าไปรับผู้ป่วยในบ้านได้ การปรับปรุงชุมชนและที่อยู่อาศัยทำให้สภาพความเป็นอยู่ของชาวชุมชนดีขึ้น โดยที่ยังคงเอกลักษณ์ของวิถีชุมชนริมนํ้าดั้งเดิมไว้ให้มากที่สุด จนกระทั่งได้รับรางวัลออกแบบชุมชนดีเด่น ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๓ จากสมาคมสถาปนิกชุมชนเมืองไทย ซึ่งเหนือไปกว่าการออกแบบเพื่อให้ได้สถาปัตยกรรมที่เรียบร้อยสวยงามเป็นระเบียบ คือ เป้าหมายเชิงคุณค่าของสถาปนิกในการสร้างความมั่นใจให้ชุมชนผู้มีรายได้น้อยได้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี และการอนุรักษ์ชุมชนดั้งเดิมให้มีศักยภาพสมกับการเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่น่าภาคภูมิใจของท้องถิ่น
Location: | อุบลราชธานี |
Year | 1800 |
Client/Owner: | |
Status: | |
Building Area: | |
Project Value: | |
Collaborators: |