โครงการโรงพยาบาลบางบัวทอง 2

เปลี่ยนโรงพยาบาลให้เป็น ‘โรงพยาบ้าน’ ของชุมชน ?

เมื่อโรงพยาบาลเป็นสถานที่ๆ เรามักนึกถึงแต่การเจ็บไข้ได้ป่วย ความหดหู่ มีแต่ความไม่สบายทั้งร่างกายและจิตใจ แต่โรงพยาบาลบางบัวทอง2 แห่งนี้ได้ชวนชุมชนโดยรอบ และบุคลากรมาร่วมคิด ร่วมออกแบบโรงพยาบาล ให้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมของชุมชน พลิกฟื้นโรงพยาบาล พื้นที่ที่ไม่มีคนไปให้เป็นศูนย์กลางในการทำกิจกรรมของชุมชน โดยการออกแบบปรับปรุงโรงพยาบาลให้เอื้อต่อการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจของคนป่วย และคนในชุมชน
กระบวนการ
1. เมืองขาดแคลนพื้นที่สาธารณะ
รู้หรือไม่ ? ว่าตอนนี้พื้นที่สาธารณะดีๆ ที่เอื้อให้เกิดกิจกรรมทางกายในประเทศไทยมีน้อยกว่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลกมาก ยิ่งถ้ามองลงไปในระดับจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดนนทบุรีมีพื้นที่สาธารณะน้อยที่สุดในประเทศไทยเลยนะ มีเพียงแค่ 3 ตารางเมตรต่อคน จากมาตรฐานองค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ 9 ตารางเมตรต่อคนจะดีไหม ? ถ้าเราสามารถออกแบบพื้นที่โรงพยาบาลให้เป็นพื้นที่ศูนย์กลางการทำกิจกรรมของชุมชนได้

เพราะที่ตั้งโรงพยาบาลส่วนใหญ่อยู่ใกล้กับชุมชน สะดวกในการเข้ามาใช้บริการ เราจึงเห็นโอกาสที่จะพัฒนาพื้นที่ว่างในโรงพยาบาลให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ไม่ว่าจะเป็นคนป่วยหรือคนไม่ป่วยก็สามารถเข้าไปใช้งานได้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการ ริเริ่มโครงการ“การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการออกแบบและพัฒนาต้นแบบโรงพยาบาลที่เอื้อให้เกิดพื้นที่สุขภาวะในระดับชุมชนโรงพยาบาลบางบัวทอง2 จ.นนทบุรี” โดยสถาบันอาศรมศิลป์ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ที่มีเป้าหมายสำคัญในการสร้างต้นแบบโรงพยาบาลที่เอื้อให้เกิดสุขภาวะชุมชนและเป็นตัวอย่างในการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะในโรงพยาบาลผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระหว่างบุคลากรในโรงพยาบาล ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันออกแบบโรงพยาบาล ให้มีพื้นที่สาธารณะที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคม

2. ชวนชุมชนร่วมคิดร่วมออกแบบโรงพยาบาลในฝัน
ทีมสถาปนิกได้ลงพื้นที่ทำความรู้จักกับชุมชนและกลุ่มกิจกรรม และผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการ เป้าหมายครั้งนี้ไม่ใช่แค่ชวนชุมชนมาพูดคุย ทำความรู้จัก แต่เป็นการชวนชุมชนมาร่วมกันคิด

“เป็นไปได้ไหมที่โรงพยาบาลจะเป็นศูนย์กลางการทำกิจกรรมของชุมชน ?”
“ภาพโรงพยาบาลที่ชุมชนอยากเข้ามาใช้งานเป็นอย่างไร ?”

ซึ่งชุมชนให้ความสนใจ กระตือรือร้นในการแสดงความคิดเห็นและอยากเข้ามามีส่วนร่วมทำกิจกรรมที่อยากให้เกิดขึ้นในอนาคต บางคนถึงกับเสนอตัวเองอยากเข้ามาเป็นจิตอาสาร่วมกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลในการดูเเลพื้นที่กันเลยทีเดียว

การพูดคุย ทำความเข้าใจกับชุมชน เราใช้เครื่องมือในการพูดคุยกับชุมชนให้ชุมชนเข้าใจได้ง่ายและเห็นภาพโครงการชัดเจน เช่น การยกตัวอย่างโรงพยาบาลราชพฤกษ์ เพื่อถ่ายทอดเรื่องคุณค่าความเป็นหมอที่ต้องดูแลคนไข้ด้วยใจ ตัวอย่างโครงการลานกีฬาวัฒนธรรมพื้นที่ท่าฉลอม สื่อสารความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่ขนาดเล็กและการยกตัวอย่างโครงการลานกีฬาพัฒน์ ที่เป็นตัวอย่างการทำกิจกรรมและการบริหารจัดการของคนในชุมชนเข้ามาช่วยกันดูแลพื้นที่ และใช้การสื่อสารเชิงบวกเพื่อให้ชุมชนเห็นประโยชน์และเจตนารมณ์ของโรงพยาบาลที่อยากให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม

3. บุคลากรร่วมออกแบบที่ทำงานในฝัน
กระบวนการมีส่วนร่วมไม่ได้จบอยู่แค่ชุมชน ทางคณะผู้บริหารโรงพยาบาลเห็นความสำคัญและใส่ใจความคิดเห็นของบุคลากร เราจึงจัดกระบวนการทำความรู้จักและพูดคุยกับบุคลากรทุกแผนก เพื่อให้บุคลากรได้กล้าพูดคุย กล้าเเสดงความคิดเห็นได้อย่างเปิดใจ

เมื่อเข้าใจโจทย์และความต้องการแล้ว ทีมสถาปนิกได้ร่างแบบโรงพยาบาลในฝัน เราจัดเวทีเวิร์คชอป นำเสนอแบบการปรับปรุงภูมิทัศน์และอาคารส่วนรักษาการพยาบาล เราชวนทุกคนมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อแบบ เกิดเป็นเป้าหมายร่วมกันที่อยากให้การพัฒนาพื้นที่โรงพยาบาลบางบัวทอง2 ให้เป็นศูนย์กลางการทำกิจกรรมของชุมชน เป็นพื้นที่สุขภาวะของชุมชน ที่จะพลิกโฉมโรงพยาบาลให้เป็นพื้นที่สีเขียวและพื้นที่กิจกรรมของทั้งคนป่วย และคนไม่ป่วยให้เกิดขึ้นจริง

4. จากเป้าหมายสู่การออกแบบ “แม้กายป่วย แต่ใจไม่ป่วย”
การออกแบบพัฒนาโรงพยาบาลบางบัวทอง2 ภายใต้แนวคิดการออกแบบ “แม้กายป่วย แต่ใจไม่ป่วย”การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเยียวยาทางจิตใจ ที่เอื้อให้คนชุมชนมีสุขภาพดี เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับคนป่วยและคนไม่ป่วย

การออกแบบ จึงเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมภายในโรงพยาบาลให้สอดคล้องกับบริบทชุมชน เพื่อให้เกิดพื้นที่สุขภาวะทาง กาย ใจ สังคม จิตวิญญาณ โดยใช้แนวความคิดการออกแบบพื้นที่ 5 ด้าน คือ 1.ธรรมชาติบำบัด 2.มิตรภาพบำบัด 3.สถาปัตยกรรมบำบัด 4.จิต-ปัญญาบำบัด 5.กิจกรรมบำบัด

โดยสร้างบรรยากาศพื้นที่ให้ดูอบอุ่นเป็นกันเองด้วยการใช้ธรรมชาติ เช่น การปลูกต้นไม้ใหญ่ใช้พันธุ์ไม้มีสีสัน และแสงธรรมชาติ ให้ดูผ่อนคลาย ออกแบบพื้นที่กิจกรรมที่ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ของทุกคน การออกแบบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเยียวยาด้านจิตใจให้กับผู้ป่วย ผู้ใช้บริการและบุคลากร ทั้งหมดเป็นการส่งเสริมให้โรงพยาบาลเป็นพื้นที่ดูแลผู้ป่วยอย่างเป็นองค์รวมและใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการบริหารจัดการพื้นที่ระหว่างบุคลากรและชุมชนร่วมกัน

 

เป้าหมายโครงการ 

“ต้นแบบกระบวนการออกแบบและพัฒนาโรงพยาบาลที่เอื้อต่อสุขภาวะชุมชนอย่างมีส่วนร่วม”

“ต้นแบบกระบวนการออกแบบและพัฒนาโรงพยาบาลเอื้อให้คนสุขภาพดี เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับคนป่วยและคนไม่ป่วย”

  1. ตอบสนองการใช้งาน และความต้องการ ของบุคลากรโรงพยาบาล และชุมชนผู้มาใช้บริการ
  2. เปิดพื้นที่บางส่วนของโรงพยาบาลให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่เอื้อให้เกิดสุขภาวะในระดับชุมชน
  3. ออกแบบสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเยียวยาทางจิตใจทั้งคนป่วยและคนไม่ป่วย         

 

ผลลัพธ์ 

  • Active People : บุคลากรและคนในชุมชนที่มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของพื้นที่สาธารณะในโรงพยาบาล 
  • เกิดความร่วมมือในการออกแบบและพัฒนาโรงพยาบาลโดยกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างบุคลากร ผู้บริหารโรงพยาบาล ชุมชน และหน่วยงานรัฐ
  • เกิดจิตอาสาจากคนในชุมชนที่พร้อมเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลพื้นที่สาธารณะในโรงพยาบาล
  • Active Environment : ต้นแบบพื้นที่สุขภาวะ/แนวทางการออกแบบสภาพแวดล้อมโรงพยาบาล
  • เกิดการออกแบบพื้นที่สุขภาวะในโรงพยาบาลที่มีชีวิตชีวา ตอบโจทย์ความต้องการในการใช้งาน และเอื้อต่อการเยียวยาฟื้นฟูผู้ป่วยทั้งกายและจิตใจ
  • Active Systems 
  • เกิดการวางแผนนำผังแม่บทไปสู่การจัดสรรงบประมาณ และการระดมทุนเพื่อพัฒนาโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง

 

Location: โรงพยาบาลบางบัวทอง 2 จังหวัดนนทบุรี
Year 2564
Client/Owner: โรงพยาบาลบางบัวทอง 2
Status: ยังไม่ดำเนินการก่อสร้าง
Building Area:
Project Value: ประเทศไทยมีพื้นที่สาธารณะดี ๆ ที่เอื้อให้เกิดกิจกรรมทางกายน้อยกว่ามาตรฐานโลก โดยเฉพาะในจังหวัดนนทบุรีมีพื้นที่สาธารณะน้อยที่สุดในประเทศไทย ที่ตั้งโรงพยาบาลส่วนมากจะอยู่ใกล้ศูนย์กลางชุมชน มีความสะดวกในการเข้าถึง มีโอกาสที่จะพัฒนาที่ว่างให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่เอื้อให้เป็นพื้นที่สุขภาวะชุมชน โรงพยาบาลขนาดเล็กมีข้อจำกัดด้านงบประมาณการออกแบบ ใช้แบบมาตรฐานจากส่วนกลาง ซึ่งไม่สอดคล้องกับบริบทและความต้องการในการใช้งานที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ และไม่เอื้อต่อการเยียวยาฟื้นฟูผู้ป่วยทั้งกายและจิตใจ
Collaborators: สสส. / สถาบันอาศรมศิลป์ / โรงพยาบาลบางบัวทอง 2