ศูนย์เรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจรและบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
แนวความคิดในการออกแบบ
๑. ใช้พลังธรรมชาติ ในการเยียวยา กาย ใจ และ จิตวิญญาณ ๒. ใช้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อการภาวนาสู่ความสงบของจิตวิญญาณ ๓. ใช้พลังจาก ศิลปะ และ พื้นที่กิจกรรม เพื่อการจรรโลงใจ ๔. ตอบสนองการใช้สอย และดูแลรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ๕. เรียบง่าย สอดคล้องกับธรรมชาติ และ ประหยัดพลังงาน ๖. สร้างบรรยากาศของความอบอุ่น คุ้นเคย เหมือนอยู่ “บ้าน”
คุณค่าและประโยชน์ของโครงการ “สังคมไทยกำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ” เป็นคำกล่าวที่ สะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงทางประชากร ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยขณะนี้ โครงสร้างอายุที่เปลี่ยนแปลงทำให้อัตราส่วนพึ่งพิงเปลี่ยนไปด้วย อัตราส่วนพึ่งพิงรวม คือ อัตราส่วนระหว่างประชากรวัยเด็ก (๐ – ๑๔ ปี) และประชากรสูงอายุ (๖๐ ปีขึ้นไป) ต่อประชากร วัยทำงาน (๑๕ – ๕๙ ปี) ๑๐๐ คน ที่สะท้อนให้เห็นลักษณะการพึ่งพิงกัน (ทางเศรษฐกิจ) ระหว่างประชากรกลุ่มอายุต่าง ๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในปี พ.ศ.๒๕๔๘ อัตราส่วนพึ่งพิงรวมเท่ากับ ๕๐ แต่จะเพิ่มเป็น ๕๖ ในปี พ.ศ.๒๕๖๘ อย่างไรก็ตาม ถ้าแยกอัตราส่วนพึ่งพิงรวมนี้ออกเป็นอัตราส่วนพึ่งพิงวัยเด็ก และวัยชรา แล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่าอัตราส่วนพึ่งพิงวัยเด็กจะลดลงอย่างมาก จาก ๓๔ ในปี พ.ศ.๒๕๔๘ เหลือเพียง ๒๕ ในปี พ.ศ.๒๕๖๘ แต่อัตราส่วนพึ่งพิงวัยชราจะสูงขึ้นอย่างมากคือเพิ่มขึ้นจาก ๑๖ เป็น ๓๑ ในช่วงเวลาเดียวกัน จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรไทยไปสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้สังคมไทยในวันข้างหน้าอาจต้องประสบกับปัญหาใหญ่ คือ ปัญหาที่ภาครัฐต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย ในการรักษาพยาบาลประชากรกลุ่มนี้มากขึ้น ปัญหาการขาดผู้ดูแล เพราะเมื่อผู้สูงอายุมีอายุยืนยาวขึ้น ความต้องการการช่วยเหลือดูแลย่อมเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ตัวเลขอัตราส่วนเกื้อหนุนกลับชี้ว่า จำนวนคนวัยแรงงานที่มีความสามารถในการให้การดูแลเกื้อหนุนผู้สูงอายุจะลดน้อยลง และเนื่องจากแนวโน้มที่ประชากรมีอัตราการแต่งงานลดลงทำให้ปัญหาการขาดคนดูแลมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น นอกจากปัญหาผู้สูงอายุขาดคนดูแลแล้ว ผู้สูงอายุบางคนอาจต้องทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุด้วยกัน หรือสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ อีกด้วย เมื่อมีแนวโน้มว่าสถาบันครอบครัวจะสามารถให้การเกื้อหนุน ผู้สูงอายุได้น้อยลง ในขณะที่เครือข่ายทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนบ้าน วัด กลุ่มหรือสมาคมในชุมชน ก็ไม่สามารถปฏิบัติบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุได้อย่างเข้มแข็งเพียงพอ วิถีการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ ย่อมเกิดปัญหา และสังคมโดยรวมก็คงได้รับผลกระทบอย่างปฏิเสธไม่ได้
แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับการยกย่องจากนานาชาติว่ามีความก้าวหน้าทางการแพทย์ การสาธารณสุขในระดับภูมิภาค แต่หากพิจารณาจำเพาะเจาะจงในการบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายแล้ว ต้องนับว่าเรายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น บุคลากรทางการแพทย์ของไทยส่วนใหญ่เพิ่งจะตื่นตัวและรับรู้ในเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความเข้าใจในเรื่องการบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายในสังคมไทยต้องนับว่ายังอยู่ในวงจำกัด การบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายยังมีฐานอยู่ในโรงพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นการยาก ที่จะดูแลผู้ป่วยและครอบครัวได้เป็นอย่างดี การเตรียมความพร้อมบุคลากรดูแลผู้ป่วยที่บ้านโดยเฉพาะระบบบริการปฐมภูมิ จะมีส่วนสำคัญในการดูแลได้เป็นอย่างดี
การเตรียมความพร้อมและความเชี่ยวชาญอย่างเฉพาะทางของหน่วยบริการด้านสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ พร้อมกับการให้อำนาจท้องถิ่นในการเชื่อมโยงและสนับสนุนการดูแลสุขภาพและสังคมแก่ผู้สูงอายุ จะช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการทางสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุของคนในครอบครัวจะช่วยให้เกิดความต่อเนื่องในสังคมผู้สูงอายุ การดูแลสุขภาวะของผู้สูงอายุแบบครบวงจรนั้นเริ่มตั้งแต่ก้าวสู่ช่วงวัยของการเป็นผู้สูงอายุที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ไปจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ที่แต่ละช่วงวัยก็มีความต้องการในการดูแลที่แตกต่างกันไปทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ สถานบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย (Hospice) เป็นสถานบริบาลผู้ที่ป่วยหนักจากโรคที่ไม่สามารถรักษาได้ โดยเน้นคุณค่า และคุณภาพชีวิตช่วงท้ายของผู้ป่วยเพื่อปูทางสู่การสิ้นชีวิตอย่างสงบ มีความหมายและยอมรับในสัจธรรมที่ว่าความตายเป็นกระบวนการปรกติตามธรรมชาติ ไม่มีการเร่งหรือเหนี่ยวรั้งชะลอความตาย เป็นการบริบาลแบบประคับประคองเพื่อลดอาการปวดและอาการทุกข์ทรมานทางกาย และยังผสานการดูแลทั้งทางด้านจิตใจและจิตวิญญาณของผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิดที่กำลังจะสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก
ประโยชน์ของโครงการศูนย์เรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจรและสถานบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย ๒.๑ เป็นการพัฒนาต้นแบบของระบบการดูแลสุขภาวะของผู้สูงอายุอย่างครบวงจร ที่ก่อให้เกิดประโยชน์และตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุในสังคมไทย ๒.๒ เพื่อพัฒนารูปแบบการบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย ที่สามารถนำไปสู่การปรับเปลี่ยนแนวความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับความตายในมิติทางสังคมและทางการแพทย์ของไทย ๒.๓ เป็นสถานที่วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ในการดูแลสุขภาวะของผู้สูงอายุอย่างครบวงจรและการบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย ๒.๔ เป็นสถานที่ฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความชำนาญในการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะท้ายอย่างมีมาตรฐานและเป็นระบบ ๒.๕ เป็นสถานที่บริการวิชาการที่ตอบสนองความต้องการของสังคมอย่างแท้จริง
|
Location: | ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ |
Year | |
Client/Owner: | คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล |
Status: | กำลังก่อสร้าง |
Building Area: | 49,000 ตร.ม. |
Project Value: | 1,300 ล้านบาท |
Collaborators: | งานสถาปัตยกรรม : สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด สถาบันอาศรมศิลป์, งานสถาปัตยกรรมภายใน : บริษัท ไดเมนชันแนล อินทอพรีเทชั่น จำกัด (DIN), งานภูมิสถาปัตยกรรม : สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด, งานวิศวกรรมโครงสร้าง : บริษัท อีเอ็มเอส คอนซัลแตนท์ จำกัด , บริษัทเกษมดีซายน์ แอนด์ คอนซัลแทนท์ จำกัด, งานวิศวกรรมงานระบบ : บริษัท อีเอ็มเอส คอนซัลแตนท์ จำกัด, งานออกแบบแสงสว่าง : บริษัทไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด, |