วานิชเพลซ อารีย์ & วานิช วิลเลจ
แนวความคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรม Vanit Place Aree
ความเรียบง่าย,ความสุขุมและความสุภาพเรียบร้อยคือเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทย ซึ่งทั้งหมดนี้นำสู่การตีความของการออกแบบcharacterของอาคารวานิชอารีย์ที่ออกแบบให้ตัวอาคารสูงเด่นสง่าในย่านชุมชนอารีย์แต่ดูกลืนหายไปในท้องฟ้าโดยใช้ผนังกระจกและฟินกระจก
อาคารวานิช อารีย์เป็นสถานที่ทำงานที่ให้ความสำคัญในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี,ส่งเสริมสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีเพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพและเก็บรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพไว้กับองค์กรให้ยาวนาน และเป็นอาคารได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED GOLD สำหรับอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
แนวความคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรม Vanit Village
แนวความคิดในการออกแบบรูปแบบสถาปัตยกรรมอาคาร Vanit Village โดยมีเป้าหมายที่ต้องการให้ตัวรูปแบบสถาปัตยกรรมมีความเป็นมิตรกับชุมชน ด้วย Scale ของอาคารที่ไม่ใหญ่ และมีรูปแบบของความเป็น”บ้าน”ที่ต้องการสืบสานบ้านเก่าของย่านอารีย์แห่งนี้ที่ถือเป็นย่านพักอาศัยเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร
รูปแบบสถาปัตยกรรมบ้านดั้งเดิมในย่านอารีย์ คือรูปแบบสถาปัตยกรรม Modern Tropical สมัยยุคแรกๆของประเทศไทย ที่เกิดขึ้นยุคใกล้เคียงกับย่านสุขุมวิท ราวเมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว(พ.ศ.2501-2515) และถือเป็นช่วงที่มีเอกลักษณ์ในทางประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมในประเทศไทยยุคหนึ่ง จากหนังสือบันทึกสถาปัตยกรรม หนังสือ บ้านในกรุงเทพฯ : รูปแบบและการเปลี่ยนแปลงในรอบ 200 ปี (พ.ศ. 2325-2525)โดยผศ.ผุสดี ทิพทัสและผศ.มานพ พงศทัตแห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหนังสือ“พัฒนาการแนวความคิดและรูปแบบของงานสถาปัตยกรรม:อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” โดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์,2536 เรียกรูปแบบสถาปัตยกรรมบ้านในช่วงดังกล่าวว่ารูปแบบ “แนวเน้นปัจจัยสภาพแวดล้อม” โดยเล่าถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของรูปแบบสถาปัตยกรรมดังกล่าวว่า หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นช่วงที่วงการการสถาปนิกเริ่มผันมือจากชาวต่างชาติมาสู่ชาวไทย มีสถาปนิกไทยจำนวนมากที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ และเริ่มกลับมาทำงานออกแบบหรือเป็นอาจารย์สอนในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง สถาปนิกเหล่านี้ได้นำความรู้ใหม่ๆ ที่ทันสมัยเข้ามาเผยแพร่ และนำเอาความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์และปรับปรุงให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ชีวิต ความเป็นอยู่และสังคม วัฒนธรรมของคนไทย โดยเฉพาะในช่วงแรกๆเศรษฐกิจของประเทศยังอยู่ในระยะที่เพิ่งฟื้นตัวจากสงครามและต้องการความประหยัด จนเกิดเป็นรูปแบบความงามของรูปทรงที่เรียบง่ายสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมเป็นสำคัญ เช่น การทำหลังคามุมต่ำ การทำครีบแนวตั้ง-แนวนอนเพื่อการบังแสงแดด ฯลฯ Vanit Village จึงเป็นงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่มีความพยายามที่จะสืบสานรากจากประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมของพื้นที่เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของย่านอารีย์แห่งนี้
|
Location: | ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400 |
Year | 2566 |
Client/Owner: | บริษัท แหลมทองเอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด |
Status: | กำลังก่อสร้าง |
Building Area: | 78,877.51 ตร.ม. |
Project Value: | - |
Collaborators: | งานสถาปัตยกรรม : สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์, งานสถาปัตยกรรมภายใน : บริษัท พีเอชทีเอเอ ลีฟวิ่ง ดีไซน์ จำกัด, งานภูมิสถาปัตยกรรม : สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์, งานวิศวกรรมโครงสร้าง : บริษัท เอส เอส เค เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด, งานวิศวกรรมงานระบบ : บริษัท ว. และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด, งานออกแบบแสงสว่าง : บริษัท วิธไล้ท์ จำกัด, งานออกแบบป้าย : บริษัท จี49 จำกัด, ที่ปรึกษาและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม: บริษัท อีโคซิสเต็ม เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด, ที่ปรึกษาการออกแบบอาคารเขียว และยื่นรับรอง LEED : บริษัท แอฟริคัส จำกัด, งานบริหารการก่อสร้าง : บริษัท แอลโทโปร คอนสตรัคชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด,บริษัท เอ อี เอเชีย จำกัด ผู้รับเหมาก่อสร้าง : ผู้รับเหมาหลัก : บริษัท เจ ดับบลิว เอส คอนสตรัคชั่น จำกัด, ผู้รับเหมา façade : บริษัท เอเอจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด, ผู้รับเหมา งานระบบ : บริษัท เซ็กโก้ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด, |